วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

๒) อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (pointing device) หรือเมาส์(mouse) อุปกรณ์ชี้ตำแหน่งเป็นอุปกรณ์สำหรับเลื่อนตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ทำให้มีการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์รวดเร็วกว่าแป้นพิมพ์ อุปกรณ์ชี้ตำแหน่งจะรับข้อมูลจากการชี้ คลิก ดับเบิลคลิก ลากและวาง จากนั้นข้อมูลจะถูกแปลงเป็นสัญญาณทางไฟฟ้าที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ ปกติตัวชี้ตำแหน่งของเมาส์จะเป็นรูปลูกศร และมีกลไกภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามรถจับได้ว่าเมาส์เลื่อนตำแหน่งไปมากน้อยแค่ไหนและในทิศทางใด อุปกรณ์ชี้ตำแหน่งที่นิยมใช้มีดังนี้
                ๒.๑) เมาส์แบบทั่วไป (
mechanical mouse) เป็นเมาส์ที่ได้รับการออกแบบให้ใช้ลูกบอลเป็นตัวจับทิศทางที่เมาส์เลื่อนไป
                ๒.๒) เมาส์แบบแสง (
optical mouse) เป็นเมาส์ที่ออกแบบโดยใช้ส่องแสงไปกระทบพื้นผิวด้านล่าง โดยวงจรภายในเมาส์จะวิเคราะห์แสงสะท้อนที่เปลี่ยนไปเมื่อเลื่อนเมาส์และแปลงทิศทางเป็นการชี้ตำแหน่ง
                ๒.๓) เมาส์แบบไร้สาย (
wireless mouse) เมาส์ที่ใช้คลื่นวิทยุหรือแสงอินฟราเรดในการติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้มีการเคลื่อนไหวที่สะดวก
                นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์สมัยใหม่ที่ใช้หลักการทำงานของอุปกรณ์ชี้ตำแหน่งที่อำนวยความสะดวกในการใช้งานมากมาย ได้แก่
               
- ลูกกลมควบคุม (track ball) เป็นอุปกรณ์ที่มีลูกบอลขนาดเล็กวางอยู่ด้านบน ผู้ใช้สามารถหมุนลูกบอลเพื่อเลื่อนตำแหน่งของตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพ
               
- แท่งชี้ควบคุม (track point) เป็นแท่งพลาสติกเล็กๆอยู่ตรงกลางแป้นพิมพ์ ผู้ใช้สามารถเลื่อนตำแหน่งตัวชี้บนจอภาพได้โดยใช้นิ้วหัวแม่มือกดและเลื่อน
               
- แผ่นรองสัมผัส (touch pad) เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมที่วางอยู่หน้าแป้นพิมพ์ของโน๊ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วมือเคลื่อนที่ผ่านไปยังตำแหน่งต่างๆ เพื่อเลื่อนตำแหน่งของตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพ
               
- จอยสติ๊ก (joystick) เป็นก้านสำหรับใช้โยกไปตามทิศทางที่ต้องการ เพื่อย้ายตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพ และมีแป้นกดสำหรับสั่งงานพิเศษ นิยมใช้กับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์
               
- เมาส์ที่ควบคุมด้วยเท้า (foot mouse) เป็นเมาส์ที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ไม่สามารถใช้มือในการควบคุมเมาส์แบบปกติได้ โดยเมาส์ชนิดนี้จะเลื่อนตัวชี้ตำแหน่งและคลิกได้ด้วยเท้า
               
- เมาส์ที่ควบคุมด้วยตา (eye tracking) เป็นเมาส์ที่ออกแบบมาสำหรับการควบคุมตัวชี้ตำแหน่งด้วยสายตาหรือเรตินา
               
- ไจโรสโคปิก เมาส์ (gyroscopic mouse) เป็นเมาส์ที่ควบคุมตัวชี้ตำแหน่งโดยไม่ต้องใช้พื้นผิวสัมผัส ผู้ใช้สามารถเคลื่อนไหวเมาส์ในอากาศ เพื่อควบคุมตัวชี้ตำแหน่งบนจอภาพได้ดี
                ๓) จอภาพระบบไวต่อการสัมผัส (touch sensitive screen) เป็นหน้าจอที่รองรับการทำงานแบบสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสด้วยนิ้วมือหรือปากกาแสง ทำงานได้เพียงแค่ผู้ใช้สัมผัสนิ้วมือหรือปากกาลงบนจอภาพในตำแหน่งที่โปรแกรมกำหนดไว้ โปรแกรมจะทำการรับข้อมูลและทำงานตามคำสั่งที่ผู้ใช้เลือก การใช้งานลักษณะนี้นิยมใช้กับผู้ที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่คล่อง ซึ่งช่วยให้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว
                ปัจจุบัน มีจอภาพระบบไวต่อการสัมผัสที่สามารถรับข้อมูลจากการสัมผัสได้หลายจุดพร้อมๆกัน เรียกว่า               มัลติทัช (
multitouch) ส่วนใหญ่ประยุกต์ใช้ในงานธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ธนาคาร เป็นต้น
                ๔) ระบบปากกา (pen-based system) ระบบปากกาเป็นการใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายปากกาป้อนข้อมูลที่เป็นทั้งลายมือเขียนและภาพวาดลงบนจอภาพระบบไวต่อการสัมผัส ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ปากกาป้อนข้อมูลต้องมีระบบรู้ลายมือ (hand writing recognition) เพื่อวิเคราะห์ลายมือเขียนให้เป็นตัวอักษรได้ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมักเกิดปัญหาเกี่ยวกับการตีความตัวอักษรที่เขียนโดยผู้ใช้แต่ละบุคคล ระบบปากกาที่นิยมใช้ มีดังนี้
                ๔.๑) สไตลัส (
stylus) มีลักษณะเป็นปากกาหัวเล็กแหลม ใช้สำหรับป้อนข้อมูลลงบนจอภาพระบบไวต่อการสัมผัสซึ่งนิยมใช้กับเครื่องอ่านพิกัด (tablet) เครื่องพีดีเอ และสมาร์ตโฟน
                ๔.๒) ปากกาแสง (
light pen) เป็นอุปกรณ์ที่มีหลักการทำงานเช่นเดียวกับสไตลัส แต่ปลายปากกาจะมีความไวต่อแสงมีสายที่ใช้เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ การใช้ทำงานได้โดยการแตะปากกาแสงไปบนจอภาพตามตำแหน่งที่ต้องการ นิยมใช้กับคอมพิวเตอร์สำหรับงานด้านกราฟิก เช่น การออกแบบ(computer aided design : CAD) การวาดภาพ เป็นต้น
                ๕) อุปกรณ์กราดข้อมูล (data scanning devices) เป็นอุปกรณ์ที่รับข้อมูลเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์โดยการใช้แสงส่องผ่านข้อความ ภาพ หรือสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน อุปกรณ์กราดข้อมูลที่นิยมใช้งาน มีดังนี้
                ๕.๑) สแกนเนอร์ (
scanner) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลักการส่องแสงไปยังข้อความ สัญลักษณ์ หรือภาพที่ต้องการเพื่อทำสำเนาภาพ จากนั้นข้อมูลที่สแกนเนอร์อ่าน จะถูกแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า และเก็บเป็นไฟล์ภาพ  สแกนเนอร์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ดังนี้
               
- สแกนเนอร์มือถือ(handheld scanner) เป็นสแกนเนอร์ที่มีขนาดเล็ก สามารถถือและพกพาติดตัวได้สะดวก การใช้สแกนเนอร์มือถือนี้ ผู้ใช้ต้องถือตัวสแกนเนอร์เลื่อนผ่านบนภาพต้นฉบับที่ต้องการ
               
- สแกนเนอร์แบบสอดกระดาษ(sheet scanner) เป็นสแกนเนอร์ที่ผู้ใช้ต้องสอดภาพ หรือเอกสารเข้าไปยังช่องสำหรับอ่านข้อมูล เครื่องสแกนเนอร์ชนิดนี้เหมาะสำหรับการอ่านเอกสารที่เป็นแผ่นกระดาษ แต่ไม่สามารถอ่านเอกสารที่เย็บเป็นเล่มได้
               
- สแกนเนอร์แบบแท่น(flatbed scanner) เป็นสแกนเนอร์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน มีขั้นตอนการทำงานโดยการวางกระดาษเอกสารต้นฉบับที่ต้องการไปบนเครื่องสแกนเนอร์ ทำให้ใช้ได้ง่าย
                ๕.๒) เครื่องอ่านรหัสบาร์โค้ด(
barcode reader) รหัสบาร์โค้ดเป็นสัญลักษณ์รหัสแท่ง ใช้แถบสีขาวสลับสีดำ แถบมีขนาดความหนาบางที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวเลขที่กำกับอยู่ด้านล่างของรหัสบาร์โค้ด ส่วนใหญ่นิยมใช้แทนการพิมพ์รหัสสินค้าในระบบการขายสินค้า การนำเข้าข้อมูลจากรหัสบาร์โค้ดเป็นวิธีที่รวดเร็ว และลดความผิดพลาดจากการพิมพ์ข้อมูล รวมทั้งให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี
                การอ่านรหัสบาร์โค้ดต้องอาศัยเครื่องอ่านรหัสบาร์โค้ด ซึ่งมีหลักการทำงานโดยการสะท้อนแสง เพื่ออ่านข้อมูลสินค้าจากฐานข้อมูลโดยไม่ต้องผ่านการกดปุ่มที่แป้นพิมพ์โดยจะมีการแสดงรายละเอียดสินค้า ได้แก่ ชื่อสินค้า ราคาสินค้า จำนวนที่เหลืออยู่ในคลังสินค้า แล้วจึงทำการประมวลผลข้อมูลรายการนั้น ระบบนี้เป็นมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กันทั่วโลก
                ๕.๓) เครื่องอ่านอักขระด้วยแสง (
optical character reader : OCR) เป็นอุปกรณ์ที่แปลงข้อมูลจากภาพของตัวอักขระลายมือเขียน หรือตัวอักษร (text) ที่แก้ไขได้ด้วยโปรแกรมประมวลผลคำ เช่น Microsoft Office Word , Adobe PageMaker เป็นต้น เครื่องอ่านอักขระด้วยแสงมี ๒ ลักษณะ คือ ฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์เฉพาะสำหรับแปลงเอกสารเข้าสู่คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ตัวอักษรจากภาพที่ได้จากสแกนเนอร์
                ๕.๔) เครื่องอ่านสัญลักษณ์ด้วยแสง (
optical mark reader : OMR) เครื่องอ่านสัญลักษณ์ด้วยแสงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้หลักการอ่านสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่มีการระบายหรือฝนบนเอกสารหรือแบบฟอร์ม ส่วนใหญ่จะใช้กับการตรวจกระดาษคำตอบที่มีการระบายหรือฝนสัญลักษณ์วงกลมด้วยดินสอ 2B เครื่องโอเอ็มอาร์จะอ่านข้อมูลตามเครื่องหมายวงกลมที่ระบายด้วยดินสอดำบนกระดาษคำตอบแล้วเปรียบเทียบตำแหน่งของคำตอบที่ถูกต้องช่วยให้ประมวลผลคะแนนได้อย่างรวดเร็ว
                ๕.๕) กล้องบันทึกภาพดิจิทัล (
digital camera) กล้องบันทึกภาพดิจิทัลมีรูปร่างและการทำงานคล้ายกล้องถ่ายภาพสามารถถ่ายภาพได้ทั้งภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง โดยภาพที่ถ่ายได้จากกล้องดิจิทัลจะบันทึกเป็นไฟล์ในหน่วยความจำของกล้องแทนฟิล์ม ซึ่งผู้ใช้สามารถดูภาพจากกล้องได้ทันทีทำให้เกิดความสะดวก และง่ายต่อการถ่ายภาพ
                ๕.๖) กล้องบันทึกวิดีโอดิจิทัล (
digital video camera) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบันทึกภาพเคลื่อนไหวและบันทึกเป็นข้อมูลแบบดิจิทัล ซึ่งผู้ใช้สามารถดูภาพจากกล้องได้ทันที นิยมใช้ในการประชุมทางไกลผ่านวิดีโอ ซึ่งเป็นการประชุมแบบกลุ่มผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
                ๖) อุปกรณ์รับข้อมูลเสียง (audio input) เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับสัญญาณเสียงของมนุษย์ซึ่งเป็นสัญญาณแอนะล็อกและแปลงให้อยู่ในรูปแบบของสัญญาณดิจิทัล เพื่อเก็บเป็นไฟล์ข้อมูลเสียงในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีอุปกรณ์รับข้อมูลเสียงที่สำคัญ ได้แก่ ไมโครโฟน และ แผ่นวงจรเสียง (sound card)
                ๗) อุปกรณ์รับข้อมูลผ่านร่างกายมนุษย์ (haptic device)อุปกรณ์ผ่านร่างกายมนุษย์ถูฏออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ หรือใช้กับผู้พิการในการควบคุมอุปกรณ์หรือเครื่องจักรต่างๆ โดยใช้หลักการสำผัสทางกายภาพที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์
                อุปกรณ์รับข้อมูลผ่านทางร่างกายมนุษย์ที่มีใช้ในปัจจุบัน เช่น เสื้อผ้า ถุงมือ รองเท้า เป็นต้นอุปกรณืเหล่านี้นิยมนำมาประยุกต์ใช้กับความเป็น จริงเสมือน (virtual reality : VR) ซึ่งเป็นการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกกับอุปกรณ์รับข้อมูลผ่านร่างกายมนุษย์ ที่จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมสามมิติที่ถูกสร้างโดยคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้ได้เห็นหรือได้ยิน เช่น การฝึกเครื่องบินจำลอง การจำลองการทำงาน เกมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น